เครื่องเขียนญี่ปุ่น: คุณภาพ ดีไซน์ ความใส่ใจ ที่ใคร ๆ ก็ต้องตกหลุมรัก
Technology & Innovation

เครื่องเขียนญี่ปุ่น: คุณภาพ ดีไซน์ ความใส่ใจ ที่ใคร ๆ ก็ต้องตกหลุมรัก

  • 07 Mar 2024
  • 232

มนุษย์ในโลกนี้มี 2 ประเภท 1. ปากกาน้ำเงิน ปากกาแดง ลิควิด และ 2. ดินสอกดลายการ์ตูน ยางลบเนื้อนิ่ม ปากกาหมึกแห้งสีน้ำเงิน แดง ดำ ปากกาหมึกเจล 10 สี พร้อมด้วยลิควิดเทปดีไซน์เก๋ กระดาษโน้ตลายน่ารัก กรรไกรขนาดพกพา เทปกาวสองหน้าแบบตลับ สติกกี้โน้ตรูปก้อนเมฆ และอีกสารพัดของกุ๊กกิ๊กเกินบรรยาย

โลกของเครื่องเขียนสำหรับใครบางคน (หรือกล่าวได้ว่ามนุษย์เบอร์ 2) คงทั้งกว้างและลานตาไปด้วยอุปกรณ์หลากชนิด หลายรูปแบบ ที่จะเข้ามาเติมเต็มโต๊ะทำงานให้มีสีสันมากยิ่งขึ้น และหากจะพูดถึงผู้ที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเครื่องเขียนให้คึกคัก ก็คงไม่พ้นที่จะกล่าวถึง “ญี่ปุ่น” ก่อนใครเป็นแน่ ด้วยเอกลักษณ์ของความสร้างสรรค์ที่เข้ามาตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ จนทำให้หลายคนตกหลุมรักสินค้าเหล่านั้นตั้งแต่ดีไซน์แรกเห็น

ทว่ารูปลักษณ์ที่สวยงามโดดเด่นจากเครื่องเขียนทั่ว ๆ ไป อาจไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้เครื่องเขียนของญี่ปุ่นประสบความสำเร็จและครองใจนักขีดนักเขียนทั่วโลก เพราะเบื้องหลังของชิ้นงานแสนสวยนี้ยังเปี่ยมไปด้วยความใส่ใจและการบูรณาการความรู้หลายศาสตร์ เพื่อรังสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่จะมีความแตกต่างจากเดิม และช่วยให้ทุกลายเส้นของการวาดเขียนเป็นไปอย่างราบรื่นและมีสุขกว่าที่เคย


Becks / Wikimedia Commons

แค่ “คาวาอี้” ก็ดีต่อใจและให้อะไรมากกว่าที่คิด
แล้วทำไมใคร ๆ ถึงยอมจ่ายให้เครื่องเขียนที่มีสไตล์มากกว่า?

คำถามนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งโดยเฉพาะกับเหล่าคนที่ไม่ได้อินกับโลกของเครื่องเขียน เพราะถ้าหากพิจารณาในด้านของฟังก์ชัน ปากกาปกติ สมุดลายพื้น ๆ กระทั่งยางลบก้อนสีขาว ก็ไม่ได้มีประสิทธิภาพเป็นรองเครื่องเขียนดีไซน์น่ารักสดใสเลย แต่สำหรับผู้ใช้จริงที่หลงใหลในเครื่องเขียนสุดน่ารักแล้ว พวกเขากลับมองว่าความน่ารักและดีไซน์ของอุปกรณ์เหล่านี้มีพลังมหาศาลที่ซ่อนอยู่ และทำให้มันพิเศษกว่าเครื่องเขียนทั่วไปเป็นไหน ๆ 

ดังที่ใครกล่าวว่า “บรรยากาศที่ดีมีผลต่อการทำงาน” อุปกรณ์เครื่องเขียนที่น่ารัก ๆ เหล่านี้ก็นับว่าเป็นองค์ประกอบที่ช่วยเติมไฟในการทำงานไม่แพ้ใคร ลองคิดภาพโต๊ะทำงานที่มีแต่ของน่ารักน่าใช้ ปากกาสีสวย ๆ หรือสมุดบันทึกที่มีคำพูดฮีลใจให้เราได้เริ่มวันใหม่ด้วยแพชชันทุกวัน เพียงเท่านี้เราก็คงอยากทำงานมากขึ้นเป็นไหน ๆ 

อุปกรณ์เครื่องเขียนยังนับเป็นปัจจัยที่เราสามารถควบคุมได้ ท่ามกลางบรรยากาศออฟฟิศที่คาดเดาไม่ได้ว่าวันนี้จะสดใสหรือมาคุตึงเครียด จึงไม่แปลกที่ใครต่อใครจะพากันลงทุนเพื่อซื้อความรู้สึกดี ๆ ให้กับตัวเอง ขณะที่อารมณ์ที่เป็นสุข ผนวกกับดีไซน์ที่เก๋ไก๋ก็อาจจะช่วยเติมเต็มความสร้างสรรค์และจินตนาการให้กับผู้ใช้ในการคิดทำโปรเจ็กต์ต่อ ๆ ไปเช่นกัน 

การมีปากกาหรือไฮไลต์หลากสียังช่วยให้การจดข้อมูลดูมีระเบียบมากขึ้น แยกหมวดหมู่ได้ง่าย หรือเห็นได้ว่าจุดไหนเป็นจุดสำคัญ ทำให้เครื่องเขียนเหล่านี้เข้ามามีบทบาททั้งในแง่ของการกระตุ้นให้เกิดไอเดียมากมายและช่วยจัดการไอเดียต่าง ๆ ให้เข้าที่เข้าทางและเป็นระเบียบมากขึ้นไปพร้อมกัน นอกจากนี้เครื่องเขียนที่แต่ละคนเลือกยังอาจเป็นตัวแทนของสิ่งที่แสดงตัวตนของผู้ใช้ได้ ทำให้คนรอบข้างรู้จักเราได้ดียิ่งขึ้น ทั้งยังอาจเป็นตัวเริ่มบทสนทนาที่ดี เนื่องจากเครื่องเขียนสวย ๆ ล้วนดึงดูดความสนใจของผู้คนรอบข้าง ทำให้หลายครั้งมันก็กลายเป็นตัวช่วยสร้างบรรยากาศเชิงบวกและเป็นมิตรให้เกิดขึ้นระหว่างการทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ 


Posywulausilsma LUOA / Wikimedia Commons

เพราะฉะนั้นจะมาเป็นเครื่องเขียนเหมือนกันไม่ได้
ท่ามกลางการแข่งขันของอุตสาหกรรมเครื่องเขียนทั่วโลก อุตสาหกรรมเครื่องเขียนของญี่ปุ่นกลับมีความโดดเด่นและก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำวงการเครื่องเขียนเบอร์ต้น ๆ ที่ทุกคนให้ความไว้วางใจ ด้วยคีย์เวิร์ด 2 คำหลักนั่นคือ “ดีไซน์” และ “คุณภาพ” จนกลายมาเป็นอีกจุดขายหนึ่งของประเทศ ขนาดที่หลายคนสู้บินตรงมาสู่ประเทศญี่ปุ่น ไม่ใช่เพื่อมาเที่ยว แต่เพื่อมาตามล่าหาเครื่องเขียนโดน ๆ ตามร้านขายเครื่องเขียนที่มีให้เห็นกันทั่วไป หรือถ้าหากบินมาเที่ยวแล้ว ได้มีโอกาสแวะเข้าไปในร้านขายเครื่องเขียนญี่ปุ่นสักครั้ง ก็คงไม่วายจะได้พาสินค้ากระจุกกระจิกติดมือกลับบ้านไปด้วย ทั้งแบรนด์เครื่องเขียนชั้นนำที่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายทั่วโลกในปัจจุบัน ก็ไม่พ้นไปจากแบรนด์ญี่ปุ่นเลย  

ความเฟื่องฟูของ “วงการเครื่องเขียนญี่ปุ่น” อาจมีที่มาตั้งแต่มิติด้านวัฒนธรรม เนื่องด้วยการเขียนด้วยลายมือสำหรับประเทศญี่ปุ่นถือเป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน ทั้งยังมีการเรียนการสอนในโรงเรียนมาถึงปัจจุบัน โดยมีตัวอย่างที่โดดเด่น เช่น “การประดิษฐ์ตัวอักษรญี่ปุ่น” (Japanese Calligraphy) ซึ่งทำให้เด็ก ๆ ได้รับการปลูกฝังความสนใจในการเขียนจากรุ่นสู่รุ่น และทำให้คนในประเทศต่างต้องการอุปกรณ์ที่ตอบโจทย์สำหรับการขีดเขียนอย่างมีคุณภาพ เช่น การประดิษฐ์ตัวอักษรญี่ปุ่นก็จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ที่ตอบโจทย์สำหรับการลากลายเส้นที่ละเอียดอ่อนและพิถีพิถัน ขณะที่การเขียนภาษาญี่ปุ่นทั่ว ๆ ไป ก็ต้องการอุปกรณ์การเขียนที่มีลักษณะเฉพาะเช่นเดียวกัน เนื่องจากอักษรญี่ปุ่นบางตัวมีรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ มากมาย การสร้างปากกาที่มีหัวเล็กกว่าปากกาปกติของฝั่งตะวันตก จึงช่วยให้อักขระที่มีความสลับซับซ้อน ดูเป็นระเบียบและอ่านง่ายขึ้น

ความต้องการของผู้บริโภคที่มีจำนวนมาก ทำให้แบรนด์แต่ละแบรนด์ต่างก็ต้องแข่งขันกันหาวิธีเอาชนะใจลูกค้า และต่างต้องผลิตสินค้าให้มีความโดดเด่นออกมาจากสินค้าในหมวดเดียวกัน อุปกรณ์เครื่องเขียนของญี่ปุ่นจึงมีความหลากหลายทั้งในด้านดีไซน์และรูปแบบ ชั้นขายปากกาจะไม่ได้มีเพียงปากกาที่สีต่างกัน 10 สี แต่จะมีปากกาที่มีหัวหลากหลายขนาด น้ำหมึกหลายรูปแบบ รวมถึงดีไซน์ตกแต่งแสนละลานตา เมื่อเบนสายตามาที่ชั้นขายสมุดบันทึก เราก็จะพบสมุดที่มีลักษณะเส้นและตารางที่ต่างกันสำหรับทุกการใช้งาน หรืออย่างโซนแฟ้มเองก็จะมีแฟ้มขนาดต่าง ๆ สำหรับการใส่กระดาษทุกไซส์ให้พอดีวางเรียงรายอยู่ แสดงถึงความใส่ใจในการศึกษาพฤติกรรมการใช้งานของผู้บริโภค และพัฒนาออกมาเป็นชิ้นงานเฉพาะที่โดนใจผู้ใช้ทุกคน


Engin Akyurt / Pexels


Doing / Wikimedia Commons

ส่อง 3 ปัจจัยทำไมใคร ๆ ก็เลิฟเครื่องเขียนญี่ปุ่น
เครื่องเขียนญี่ปุ่นเริ่มเป็นที่รู้จักและขยายความนิยมเป็นวงกว้างมากขึ้นเมื่อผู้ใช้หลายคนเริ่มลงรีวิวเครื่องเขียนของตนในสื่อโซเชียลมีเดีย จนกลายเป็นที่ฮือฮาของเหล่านักวาดเขียนทั่วโลกที่ต้องการอุปกรณ์ที่ตอบโจทย์การผลิตผลงานของตัวเอง เกิดเป็นกระแสที่บอกต่อ ๆ กันไป โดยมีเหตุผลหลัก 3 ประการที่หลายคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้เครื่องเขียนญี่ปุ่นปังอย่างฉุดไม่อยู่ ได้แก่ สุนทรียภาพ คุณภาพในราคาที่จับต้องได้ และนวัตกรรมที่มาพร้อมความใส่ใจ

แน่นอนว่าความ “คาวาอี้” นับเป็นหนึ่งในธีมหลักที่หลายคนคิดถึงเมื่อพูดถึงคำว่าเครื่องเขียนญี่ปุ่น ตามที่เราจะเห็นปลอกปากกาสีฟรุ้งฟริ้งพร้อมที่ห้อยสุดน่ารัก เทป “washi” ที่มีลวดลายน่ารักหลากหลาย จนขยายฟังก์ชันเพิ่มจากการเป็นเทปเฉย ๆ มาสู่อุปกรณ์สำหรับตกแต่งด้วย หรือยางลบปั้นลายการ์ตูนและอาหารที่เหมือนจริงจนหลายคนแอบน้ำลายไหล แต่หากพูดถึงสุนทรียะจากความเรียบแต่โก้ เครื่องเขียนญี่ปุ่นก็ไม่แพ้ใครเช่นกัน ดังนี้ไม่ว่าจะมินิมัลหรือมินิมาร์ต ฉูดฉาดหรือเรียบง่ายหรูหรา เครื่องเขียนญี่ปุ่นที่วางขายกันทุกวันนี้ก็พร้อมที่จะตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้ทุกรูปแบบ

ยิ่งไปกว่านั้น บางทีเราก็อาจพบเห็นเครื่องเขียนที่ปรับแต่งตามสไตล์ของเราได้ด้วย อย่าง “Uni Style Fit” ปากกากดที่เราจะสามารถเลือกได้ตั้งแต่ลายปลอก จำนวนไส้ที่ต้องการใส่ตั้งแต่ 1-5 ไส้ ไปจนถึงรูปแบบไส้รีฟิล ที่มีทั้งไส้ที่เป็นดินสอกด ปากกาลูกลื่นสามสีหลัก และปากกาหมึกเจลที่มีให้เลือกมากกว่า 10 สี พร้อมด้วยขนาดหัวปากกาที่ทำมาหลาย ๆ ขนาด เพื่อให้ทุกคนได้ปากกาที่ตอบโจทย์การใช้งานของตัวเองร้อยเปอร์เซ็นต์ แถมยังสวยถูกใจเรามากกว่าปากกาแท่งไหน ๆ 


Doing / Flickr

เครื่องเขียนญี่ปุ่นยังได้รับการออกแบบและพัฒนาจากแนวคิดหลายด้าน ทั้งวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม และการออกแบบ ร่วมกับการสังเกตพฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างใส่ใจ เพื่อให้ได้สินค้าที่เป็นนวัตกรรมใหม่และตอบโจทย์การใช้งานในชีวิตประจำวัน ยกตัวอย่างเช่น “ปากกาหมึกเจล” ที่แบรนด์เครื่องเขียนซากุระได้คิดค้นขึ้นเป็นเจ้าแรก ด้วยความตั้งใจจะพัฒนาสูตรน้ำหมึกที่เขียนได้สมูทกว่าปากกาลูกลื่น และไม่เป็นน้ำเหลวเหมือนปากกาโรลเลอร์บอล จนมาจบที่คุณสมบัติของเจลที่แข็งตัวเมื่ออยู่นิ่งในหลอดและกลายเป็นของเหลวเมื่อมีการขีดเขียน กลายเป็นปากกาอีกรูปแบบที่เขียนได้ต่อเนื่องและไหลลื่นด้วยเส้นที่ชัดเจนเสมอกัน หรืออย่าง “กาวสองหน้าแบบตลับ” ที่มีลักษณะคล้ายเทปลบคำผิด ก็เข้ามาช่วยขจัดปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้กาวแบบอื่น ๆ แล้วเลอะเหนียวติดมือให้หมดไป และยังมีอุปกรณ์สำนักงานอีกมากมายที่ออกแบบสำหรับคนถนัดซ้ายโดยเฉพาะ ในโลกที่ขับเคลื่อนด้วยการถนัดขวาเป็นสำคัญ

อีกตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงการพัฒนาแนวคิดบนพื้นฐานของความใส่ใจก็คือ “ปากกาไฮไลต์” จากญี่ปุ่นที่มีให้เลือกหลายสีและรูปแบบ เช่น ปากกาไฮไลต์สีพาสเทลอย่าง “Zebra Mildliners” ที่ต่างจากไฮไลต์ทั่วไปด้วยสี 15 เฉดที่ดูสบายตามากกว่า พร้อมทั้งหัวปากกา 2 ด้านสำหรับเน้นข้อความและจดบันทึก ถูกใจสายพาสเทลที่มองว่าไฮไลต์สีสะท้อนแสงทั่วไปค่อนข้างแสบตา ตามมาด้วย “Uni Propus Window” ไฮไลต์หัวแบบพิเศษที่เว้นช่องตรงกลางให้โปร่งใส ทำให้ผู้ใช้เห็นได้ว่าเรากำลังจะขีดเนื้อหาอะไร และสามารถกะเกณฑ์แนวเส้นที่ลากไปได้ถูกต้อง 

ขณะที่ไฮไลต์อย่าง “Sun-star Ninipie Pen and Marker” และ “Kokuyo Beetle” ก็มีการออกแบบหัวไฮไลต์ได้อย่างน่าสนใจ โดยหัวปากกาไฮไลต์ของ Sun-star Ninipie Pen and Marker จะมีทั้งปลายปากกาขนาด 0.5 มิลลิเมตร และ 5 มิลลิเมตรอยู่ด้วยกัน เพื่อให้ผู้ใช้สามารถสลับโหมดการเขียนและไฮไลต์เพียงแค่เปลี่ยนมุมจับปากกา ส่วนตัว Kokuyo Beetle ก็มีหัวปากกาที่แปลกกว่าใครเป็น 2 แฉก แฉกหนึ่งมีขนาด 1 มิลลิเมตรสำหรับขีดเส้นใต้ และอีกฝั่ง 3 มิลลิเมตรสำหรับไฮไลต์ ซึ่งเมื่อเปลี่ยนองศาการจับแฉกทั้งสองนี้ก็สามารถทำงานร่วมกันกลายเป็นการขีดเส้นคู่เพื่อขับเน้นเนื้อหาสำคัญให้โดดเด่นขึ้น พร้อมทั้งยังมีรุ่น “Kokuyo Beetle Tip Dual Color” ที่ใส่ไฮไลต์สองแฉกสองสีไว้ในแท่งเดียว

และไม่ใช่แค่ความสวยงาม น่ารัก หรือฟังก์ชันและลูกเล่นที่น่าตื่นตาตื่นใจเท่านั้น แต่ทุกรีวิวยังให้ความเห็นชัดเจนว่าเครื่องเขียนจากดินแดนอาทิตย์อุทัยเหล่านี้มีอายุการใช้งานที่ค่อนข้างนานและมีความคงทน จนสามารถให้เป็นของขวัญหรือของสะสมได้อย่างไม่อาย และอยู่ในราคาที่จับต้องได้ เมื่อเทียบกับสินค้าจากที่อื่น ๆ ที่มีคุณสมบัติหรือคุณภาพคล้ายคลึงกัน 

ไอเดียดีมีรางวัล by Sun-Star กับเครื่องเขียนสไตล์ “practi-kawaii”
เพราะเรื่องของความสร้างสรรค์ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในบริษัทผู้ผลิต หากแต่ยังมีไอเดียอีกมากมายจากบุคคลทั่วไปที่น่าสนใจและยังรอโอกาสได้เฉิดฉายในแวดวงเครื่องเขียน ดังนี้ “งานประกวดไอเดียเครื่องเขียน” ที่จัดขึ้นทุกปีโดยบริษัทเครื่องเขียน Sun-Star ผู้มุ่งเน้นเครื่องเขียนสไตล์ “practi-kawaii” (ทั้งน่ารัก ทั้งใช้ได้จริง) จึงเปิดโอกาสให้คนทุกเพศทุกวัยได้เข้าร่วมส่งแนวคิดการออกแบบเครื่องเขียนตามธีมที่กำหนด ด้วยหวังให้ทุกคนได้สนุกกับจินตนาการผ่านการคิดไอเดียสุดเจ๋งแจ๋วไปพร้อมกัน และตลอดการจัดประกวดที่ผ่านมา ก็มีไอเดียน่าสนใจมากมายที่แม้เป็นแค่จุดเปลี่ยนเล็ก ๆ แต่ก็สร้างคุณค่าและความรู้สึกเชิงบวกได้มหาศาล 

 おさかな穴あけパンチ (ที่เจาะกระดาษรูรูปปลา) – คิดภาพกระดาษที่ถูกเจาะเป็นรูโบ๋ กับเศษกลม ๆ เล็กที่ตกไปอยู่ใต้ฐานเครื่องเจาะกระดาษออกไหม? แนวคิดที่เจาะกระดาษนี้จะเปลี่ยนขยะชิ้นเล็กที่มองเห็นได้ง่ายให้กลายเป็นสิ่งที่น่ารักและดูสนุกขึ้น ด้วยรอยเจาะที่เปลี่ยนจากวงกลมเป็นรูปปลาตัวจิ๋ว เป็นการเติมสีสันให้กับฐานเก็บเศษกระดาษให้กลายเป็นอควาเรียมขนาดพกพา และในทุกครั้งที่เจาะกระดาษ ก็จะเหมือนมีปลาเพิ่มมาในอควาเรียมส่วนตัวอีกตัวหนึ่ง

けしころ (ยางลบที่มีหัวใจ) – “ทะนุถนอมสิ่งของที่ใช้ให้เหมือนมันเป็นสิ่งมีชีวิต” ยางลบสีใส มีหัวใจน้อย ๆ สีแดงเข้มอยู่ตรงกลาง เกิดขึ้นจากแนวคิดของนักศึกษาปี 4 ที่มองว่ายางลบแต่ละก้อนจะมีหน้าตาที่ต่างออกไปตามที่เจ้าของใช้ และผู้คนก็สามารถใช้ยางลบของตนด้วยความรักได้ราวกับมันมีชีวิต เริ่มจากการเติมหน้าตาให้กับมันแล้วค่อย ๆ ใช้ไม่ให้หน้าและหัวใจถูกกัดกิน ไม่เช่นนั้นหัวใจสีแดงที่ทำจากสีไม้ก็จะขีดให้หน้ากระดาษติดสี ย้ำเตือนเจ้าของอีกทีว่าเราควรรักษาดวงใจน้อย ๆ ของเจ้ายางลบให้ถึงที่สุด จนในวาระสุดท้ายเจ้าของก็สามารถเก็บดวงใจน้อยไว้เป็นที่ระลึก ซึ่งการสร้างความผูกพันทางอารมณ์ระหว่างสิ่งของกับผู้ใช้เช่นนี้ ก็จะช่วยให้เจ้าของดูแลยางลบได้อย่างดีและใช้มันด้วยความระมัดระวัง

Chatori (โน้ตนกน้อยคอยสื่อสาร) – นกตัวน้อยในเทพนิยายมักเป็นตัวละครที่มีบทบาทสำคัญเสมอในฉากที่ต้องส่งสาร และกระดาษโน้ตชิ้นนี้ก็เล่นกับจุดเด่นนั้น แม้จะดูเป็นกระดาษสติกกี้โน้ตธรรมดา แต่เมื่อพับมุมทั้งสองข้างที่มีกาวให้มาติดกัน เจ้ากระดาษนี้ก็จะกลายร่างเป็นนกน้อยแสนน่ารักทันที และเมื่อกางออกหางนกบวกกับกระดาษสี่เหลี่ยมก็จะมีลักษณะเหมือนกรอบคำพูดในการ์ตูนมังงะ กลายเป็นชิ้นงานเพื่อการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพและมีลูกเล่นในทุกมิติ

Zitte Kirari (เทปปิดซองลองเปิดดู) – สร้างความประทับใจให้ผู้รับตั้งแต่ยังไม่ทันได้แง้มดูของในซอง ด้วยเทปปิดผนึกสุดพิเศษที่ช่วยเสริมประสบการณ์ดี ๆ เพียงแค่ติดเทปดังกล่าวนี้โดยจัดให้รอยปรุของเทปอยู่ระหว่างซีลของซองจดหมาย และเมื่อผู้รับต้องการเปิด ก็สามารถดึงรอยปรุตรงกลางตามแนวได้อย่างง่ายดายโดยไม่ต้องใช้กรรไกรหรือฉีกให้ซองเสีย ด้านหลังรอยปรุดังกล่าวยังมีคำเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น “สำหรับคุณ” “ขอให้เป็นวันที่ดี” และ “ขอบคุณ” ซ่อนอยู่ ให้ผู้รับได้ใจฟูตั้งแต่วินาทีแรกที่เริ่มเปิดซอง

Piri-it! (สติกกี้โน้ตฉีกได้สื่อสารด้วย) – เพิ่มฟังก์ชันของสติกกี้โน้ตคั่นหน้าให้สามารถสื่อสารได้ถึง 2 กระบวนด้วยการฉีกตามรอยปรุแค่ครั้งเดียว ยกตัวอย่างเช่น การแปะคำว่า “LOOK” ให้ผู้เกี่ยวข้องได้เปิดอ่านและตรวจทาน และเมื่อดำเนินการสมบูรณ์แล้ว ก็แค่ฉีกส่วน “LO” ออกให้เหลือแค่ “OK” (โอเค) เพื่อตอบกลับไป หรือถ้าหากมีสิ่งที่สงสัย ก็คั่นหน้าไว้ด้วยสติกกี้โน้ตรูปปรัศนี (?) และเมื่อใดที่สามารถไขข้อข้องใจได้แล้วก็สามารถฉีกให้เป็นอัศเจรีย์ (!) ได้เลย สติกกี้โน้ตนี้จึงไม่ได้ใช้เพียงเอาไว้คั่นระบุหน้าที่ต้องการ แต่ยังช่วยแสดงให้เห็นถึงขั้นตอนการดำเนินงานอย่างง่าย ๆ อีกด้วย เจ้า Piri-it ยังมาในลวดลายที่หลากหลายให้ทุกคนได้เลือกใช้ตามสไตล์ที่ต้องการ

ความใส่ใจเพื่อให้ทุกคนได้ขีดเขียนอย่างเป็นสุขโดยไม่มีอุปกรณ์มาเป็นอุปสรรค คือหัวใจสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในโลกของเครื่องเขียนและจะยังเติบโตแม้ในยุคสมัยดิจิทัลได้อย่างมั่นคงต่อไป ด้วยความรู้ ความใส่ใจ และความคิดสร้างสรรค์สุดล้ำที่เราได้เห็นมาเสมอ กลายเป็นที่จับตามองของบรรดาเครื่องเขียนเลิฟเวอร์ว่า ในอนาคตแบรนด์เครื่องเขียนญี่ปุ่นจะมีเซอรไพรส์ใดที่จะทำให้ทุกคนได้ตื่นตาไปกับการแก้ปัญหาเรื่องงานเขียนในทุก ๆ มิติอีก

ที่มา : บทความ “THE JOY OF CUTE STATIONERY” โดย Nicoletta Constanti
บทความ “Is There a Link Between Pretty Stationery and Productivity?” จาก mesmos.co 
บทความ “Uni Style Fit: A Comprehensive Guide” โดย Connie 
บทความ “ปากกาเจล อีกหนึ่งประเภทที่โดนมองข้าม” โดย jirarat 
บทความ “ลูกลื่น โรลเลอร์บอล เจล และหมึกซึม: เลือกปากกาชนิดไหนดี?” โดย Sirakorn Lamyai 
บทความ “Why is Japanese stationery so good?” จาก zenpop.jp 
บทความ “Practical, innovative, and lasting: 5 reasons why Japanese stationery rock” โดย Nana Imay 
บทความ “Japanese Stationery: What's the Big Deal?” โดย Kristin 
บทความ “Why is Japanese Stationery A Worldwide Sensation?” โดย Flora Baker 
บทความ “7 Reasons Why People Love Japanese Stationery” จาก inkandvolt.com 
บทความ “Why We Go Crazy for Japanese Stationery” จาก mizunooto.co.nz 
บทความ “The Sun-star Ninipie Marker Pen & Highlighter” จาก stationerypal.com
บทความ “Innovative Japanese Stationery” โดย Stephanie  จาก jetpens.com 
บทความ “WHY IS JAPANESE STATIONERY SO GOOD?” จาก japancrate.com 
โพสต์ “ยางลบมีหัวใจ "เคชิโคโระ (けしころ)"” โดยเพจฯ WA-Japan 
บทความ “Sun-Star Stationery Shop” จาก bandainamcocrossstoreuk.com
เว็บไซต์ sun-star-st.jp

เรื่อง : บุษกร บุษปธำรง